The Museum of Innocence ไม่ใช่หนังสือที่ทำให้หลงรัก ตลอดเวลาที่อ่านมัน ฉันอดสูใจกับผู้คนที่แหวกว่ายอยู่ในบึงเรื่องเล่าของปามุก แต่ก็นั่นแหละ ทั้งที่ไม่ได้เสน่หาอันใดกับมันแต่ก็อ่านจบภายในเวลาสามสี่วัน–ฉันก็แค่ว่าง–เมื่อว่างจึงต้องถมชีวิตด้วยตัวหนังสือและเรื่องเล่า
ทันทีที่อ่านจบก็แอบตกใจตัวเองนิดหน่อยที่ไม่รู้สึกว่าโรแมนติกเลยทั้งๆที่ใครต่อใครต่างบอกว่ามันโรแมนติกเสียจนน้ำตาไหล– ไม่เลยจริงๆ นับตั้งแต่ chapter แรก ฉันก็ได้กลิ่นหายนะตลบอบอวล แค่เปิดหนังสือกลิ่นหายนะที่ว่าก็พุ่งออกมาจากตัวหนังสือคลุ้งไปทั้งห้อง
…
ตลอดชั่วอายุขัยของคนคนหนึ่ง คงมีสักช่วง ที่จู่ๆก็มีเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างความโรแมนติกกับ loser ผุดขึ้นมาในชีวิต– คงมีสักคน ฉันคิดว่าเคมาลเบย์เป็นหนึ่งในนั้น เขายืนอยู่ตรงเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างการเป็นคนโรแมนติกกับ loser และเขาวิ่งข้ามกลับไปกลับมาระหว่างสองฝั่ง บางทีดูซึ้งเศร้า บางทีก็ดูขลาดเขลา
ฉันถามใครคนหนึ่งที่เพิ่งอ่านจบในเวลาไล่เลี่ยกันว่า ชอบหนังสือมั้ย – เธอว่า ชอบมาก ชอบตอนจบ แต่แอบผิดหวังนิดหน่อย ฟูซุน–เราคาดหวังว่านางน่าจะฉลาดกว่านี้ จบแบบนั้นมันดูตื้นเขินเกินไป
ฉันแอบคิด–อันที่จริงหนังสือควรจะชื่อพิพิธภัณฑ์แห่งความไร้สาระเสียมากกว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา แต่นั่นคงจะหยาบคายเกินไป
ฉันคิดว่าความรักมันควรจะมีความพอดีในตัวมันเอง คนมักจะบอกว่าทำไมเราต้องเอาความเหมาะสมเป็นตัวตั้งเมื่อพูดถึงความรัก ความเหมาะสมในทีนี้ฉันหมายถึงความลงตัว ต่อให้รักกันปานจะกลืนขนาดไหนถ้าอะไรๆไม่เข้ารูปเข้ารอย มันก็คือความไม่ลงตัว ลองมองย้อนดู การเลือกคู่รัก คนส่วนใหญ่ก็มักจะเลือกแล้วเลือกอีก (กรณีที่มันมีให้เลือกเยอะน่ะนะ) อย่างที่สิเบลว่าไว้ “ศิลปะของความรักอยู่ที่การหาสมดุลระหว่างคนที่เสมอกัน…คุณเคยเห็นผู้หญิงรวยๆไปหลงรักภารโรงหรือคนงานก่อสร้างเพราะว่าพวกเขาหน้าตาดีหรือเปล่า นอกจากในหนังตุรกีน่ะ”
ฉันว่าอย่างน้อยนางคนรวยไฮโซคนนี้ก็พูดถูก สถานะมันบีบบังคับให้ผู้หญิงต้องเลือก แต่สำหรับชาย ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ผู้ชายจะหลงรักผู้หญิงแบบไหนก็ได้หรือจะคว้าใครมาเป็นเมียก็ได้ ฉันเคยได้ยินมา ผู้ชายที่มีผู้หญิงดีๆมารุมรัก แต่ก็ไม่ He กลับไปหลงหัวปักหัวปำอยู่กับหมอนวด เพ้อคลั่งจะเป็นจะตายตอนที่โดนหญิงขายบริการบอกเลิก ไม่รู้สิ ฉันว่าบางทีผู้ชายก็ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่ละเอียดลออ ไม่มีชั้นเชิงต่อเรื่องชีวิตนัก
เวลาอ่านเรื่องแต่ง ฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคนคาดหวังอะไรกับมัน พอเป็นนิยายคนส่วนใหญ่มักจะเห็นแต่ภาพของพระเอกนางเองหรือตัวละครเอกในเรื่อง บางทีฉันคิดว่าคนอ่านมักจะให้พระ-นางมีความพิเศษ จะโรแมนติกหรืออะไรก็ตามแต่ หรือไม่ก็เป็นคนน่าสงสารที่คนอ่านพร้อมจะเข้าอกเข้าใจตัวละครตัวนั้นไปหมด
อันที่จริงฉันว่า เรื่องแต่งหลายๆเรื่องไม่มีพระเอกนางเอกหรอก บางทีคนเขียนก็เล่าความจริงของชีวิต แม้จะเป็นการอุปโลกตัวละครขึ้นมา เรื่องแต่งควรอนุญาตให้ตัวละครหล่อๆสวยๆทำอะไรน่าสมเพชได้บ้าง
ตลอดเวลาที่อ่านนิยายเล่มนี้ ฉันถอนอกถอนใจกับพ่อเคมาลเบย์หลายครั้งหลายหน และฉันก็ได้แต่รำพึงว่าพอเถอะพ่อคุณ ช่วยดึงตัวเองขึ้นจากหลุมเสียทีเถอะ ชักจะไม่ไหวกะเธอแล้ว จวบจนฉากสุดท้ายของเขาฉันก็ยังรู้สึกว่าแม้ตายแล้ววิญญาณ He ก็ยังจมอยู่ก้นหลุม ไม่ได้ถูกปลดปล่อยให้ออกจากปมของตัวเอง–เคมาลเบย์ผู้หมกมุ่น คนช่างฝันซึ่งชื่นชอบการเป็นมนุษย์เจ็บปวดและไม่ยอมหลุดออกจากปมของตัวเอง
ส่วนฟูซุนคนสวยผู้อยากเป็นดาราจนตัวสั่นของเรา ฉันว่าหล่อนไม่ได้ตายอย่างตื่นเขินหรอก เราจะไปคาดหวังให้ความจริงของชีวิตดูสูงส่งเกินจริงได้เหรอ ฟูซุนก็คือฟูซุน หล่อนไม่ใช่นางเอก แต่เป็นแค่สาวช่างฝันคนนึงที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนางเอกแล้วก็ไม่ได้เป็น ผู้หญิงสวยด้วยแร่ดด้วยมีอยู่ทุกมุมเมืองบนโลกนี้ ไม่ใช่แค่ตุรกี แล้วฟูซุนก็ไม่ต่างอะไรกับสก๊อยยุคนี้นะ ตุรกีปี 1970 คงไม่มีแก๊งแว้นมอไซค์ (ยกสก๊อยมาเพราะต้องการอธิบายให้เห็นภาพเท่านั้น) อย่าว่างั้นงี้เลย เคยเห็นผู้หญิงสวย ฉลาด รอบรู้ในการแก้ปัญหา จัดการกับชีวิตของตนเองได้อย่างลงตัว ทำอะไรก็ดีไปหมดมั้ย–ผู้หญิงแบบนี้บอกได้เลยว่า..ไม่น่าจะใช่คนนะคะ
ปามุกเล่าเรื่องอย่างธรรมดา อธิบายความจริงในชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งที่เดินไปเดินมาอยู่ในอิสตันบูล ฉันว่าฉะนั้นเราอย่าไปขุดหาพระเอกนางเองจากหนังสือเล่มนี้ของแกเลย เพราะมันไม่มี
ถามว่าชอบอะไรใน The Museum of Innocence — ตอบทันทีว่า ชอบเมืองอิสตันบูล ถึงกับหลงรักทั้งที่ยังไม่เคยไปเหยียบ ฉันคิดว่าเสน่ห์ของปามุกคือการบรรยายสิ่งละอันพันละน้อย ละเอียดลออ ขณะอ่าน ฉันเหมือนจะได้กลิ่น ได้ยินเสียงคลื่นดังไกลๆมาจากอ่าวบอสฟอรัส เสียงจอแจของย่านนิชันตะเชอ และกลิ่นอายแบบแขกๆที่โชยมาจากถนนชุคุร์จุมา.
Advertisements Like this:Like Loading... Related